แม้มหาอุทกภัยที่กำลังเอ่อล้นถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร กระจายไปถึงเขตปริมณฑล จะยังไม่คลี่คลาย และในหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต
แต่การเมืองไทย "ในวิกฤตยังมีโอกาส"
เพราะวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้กลายเป็นโอกาสที่รัฐบาลใช้บริหารจัดการภายใน ปรับโครงสร้างบริหาร-จัดการทั้งคนและงบประมาณ
ทุกการเคลื่อนไหวของฝ่ายบริหารกลับถูกปริมาณน้ำที่หลากมากลบกระแส ลดแรงเสียดทานจากสังคมได้เป็นอย่างดี
หากย้อนกลับไปขณะที่มวลน้ำก้อนใหญ่ยังปักหลักอยู่ภาคกลางอย่าง จ.นครสวรรค์ จ.ลพบุรี จ.อ่างทอง จ.อยุธยา และจ่อคอหอย จ.ปทุมธานี อยู่นั้น รัฐนาวาของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กำลังงัดข้อกับ "กองทัพ" ในการ จัดทำโผแต่งตั้งนายทหาร โดยเฉพาะระดับนายพล
รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปแตะต้อง หรือสับเปลี่ยนตำแหน่งตามอำเภอใจของฝ่ายการเมืองได้แม้แต่เก้าอี้เดียว เพราะติดล็อกจาก พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 หรือ พ.ร.บ.กลาโหม ที่คลอดสมัยรัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
พลันที่มีความเคลื่อนไหวจาก ส.ส. ซีกเพื่อไทย เพื่อจะแก้ไข พ.ร.บ.อันมาจากผลผลิตของท็อปบู๊ตกลับมีเสียงต่อต้านจากกองทัพอย่างมาก ทั้งฝ่ายสภาสูงนำโดย "พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม" ส.ว.สรรหา ในฐานะอดีตเลขาฯ คมช.
หรือฝ่ายกองทัพ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา" ผู้บัญชาการทหารบก ที่ออกมาค้านหัวชนฝา คัดค้านเต็มที่ว่าไม่ควรแก้
แต่เมื่อมวลน้ำประชิดเมืองหลวง ทุกองคาพยพ รัฐบาล-กองทัพต่างปรับโฟกัสหันมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
สภาวะอุทกภัยจึงกลายเป็นตัวเชื่อมให้ "ยิ่งลักษณ์" กับ "พล.อ.ประยุทธ์" ต้องหันหน้าเข้าหากัน
หากแต่ ส.ส.เพื่อไทยไม่ได้หยุดยั้งเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม กลับอาศัยจังหวะนี้ซุ่มเงียบ เตรียมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษา สำหรับใช้เป็นแนวทางแก้ไข พร้อมจัดวาระรอชงเข้าเสิร์ฟในสภานิติบัญญัติ
ไม่เพียง พ.ร.บ.กลาโหมเท่านั้นที่พรรคเพื่อไทย "สบช่อง" แต่ "น.พ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์" ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช. ถิ่นอีสาน ยังได้เสนอญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาแก้ปัญหาและแนวทางแก้ไขกระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาเรียบร้อยแล้ว
เป็นวาระที่ "น.พ.เชิดชัย" ต้องการหั่นอำนาจของ 5 เสือ กกต.โดยเฉพาะอำนาจการให้คุณให้โทษนักการเมือง-พรรคการเมืองถึงขั้นสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปจนถึงยุบพรรค
เพราะพลพรรคเพื่อไทยต่างขยาดอำนาจของ กกต. จนมีตัวอย่างให้เห็นตั้งแต่ "ไทยรักไทย" และ "พลังประชาชน" ที่ถูกยุบพ้นสารบัญการเมืองไทยไปก่อนหน้านี้ และเหตุผลนี้อาจขยายผลไปถึงการหั่นมาตรา 237 ในรัฐธรรมนูญ เรื่องการยุบพรรคทิ้งในอนาคต
ส่งผลให้ "พรรคเพื่อไทย" ต้องหาวิธีหนีตายอีกทางหนึ่ง ส่งคนไปจดทะเบียนพรรคการเมืองกับ กกต. โดยใช้ชื่อว่า "พรรคเพื่อธรรม" เพื่อเป็น "นอมินี" รุ่น 4 ต่อจาก "ไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย"
ไม่เพียงฝ่ายนิติบัญญัติซีกรัฐบาลเท่านั้นที่ใช้ช่วงชุลมุนจากภัยน้ำท่วมเดินเครื่องรื้อกฎหมายที่เป็นผลิตผลจากคณะรัฐประหาร
หากฝ่ายบริหารยังอาศัยช่วงเวลานี้อนุมัติโยกย้ายข้าราชการระดับสูงบางตำแหน่ง เพื่อเด้งคนของฝ่ายตรงข้าม เปิดช่องดันเด็กในคาถานั่งเก้าอี้แทน
ดังกรณีตำแหน่งของ "ภาณุ อุทัยรัตน์" ที่ถูกเตะโด่งจากเก้าอี้เลขาธิการของ "ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศอ.บต. มาเข้ากรุ "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ" แล้วดัน "พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้ามารับตำแหน่งแทน
ในทันทีที่ถูกคำสั่งเด้งฟ้าผ่า เจ้าตัวก็ทำใจยอมรับสภาพ เพราะรู้ตัวดีว่า รอดยาก เนื่องจากคนที่ผลักดันให้ "ภาณุ" มานั่งในตำแหน่ง เลขาฯ ศอ.บต.คนแรกขององค์กรคือ "ถาวร เสนเนียม" ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ รมว.ยุติธรรมเงา โดยขณะนั้น "ถาวร" เป็นเจ้าของรหัส มท.3 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สถานภาพทางการเมืองของ "ถาวร" และ "ภาณุ" มีสายเลือด "สงขลา" สีเดียวกันคือ "เลือดป๋า" มีระดับความใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อย่างมีนัยสำคัญ
เป็นสถานภาพที่อยู่คนละขั้วกับ "ทักษิณ ชินวัตร" นายใหญ่แห่ง "พรรคเพื่อไทย"
เสียงความเห็นจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่มีโอกาสเคยสัมผัสกับ "ภาณุ" สมัยเป็น รมว.มหาดไทย ครั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ยังถึงกับเอ่ยปากว่า "ภาณุเป็นคนดี แต่ไร้ฝีมือ"
อีกตำแหน่งที่ถูกบรรจุในวาระ ครม.ยุคน้ำท่วม และ "ยิ่งลักษณ์และคณะ" ตัดสินใจเปลี่ยนม้ากลางศึก คือ "พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า" พ่อเมืองปทุมธานี ที่ถูกเตะโด่งเข้ากรุผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทย ในวันที่น้ำในเมืองปทุมทะลักเข้า กทม.
แม้จะมีเสียงมาจากฝั่งซีกรัฐบาลว่า สาเหตุย้าย "พีระศักดิ์" เพราะดันไป ยอมยกธงขาวให้กับ "วารี" ที่บุกรุกเข้ากลืนเมืองปทุม แถมยังยกจังหวัด ให้กองทัพดูแล แสดงถึงความไม่เป็นผู้นำ
แต่หากย้อนดูเส้นสาย "พีระศักดิ์" ก่อนมารับตำแหน่งพ่อเมืองปทุม พบว่าเติบโตในสาย จ.บุรีรัมย์ อันเป็นฐานบัญชาการของ "ตระกูลชิดชอบ" เจ้าของ "พรรคภูมิใจไทย" มาตลอด
มีความสนิทสนมตั้งแต่หน้าบ้านยันหลังบ้าน รวมถึง "ชัย ชิดชอบ" อดีตประธานสภา ผู้อาวุโสในรัฐบาลชุดที่ แล้ว จึงไม่แปลกที่ "พีระศักดิ์" จะถูกเด้งเข้ากรุ เพราะรู้กันทั่วกระทรวงคลองหลอดว่า อดีตพ่อเมืองปทุมนั้นเชื่อมคอนเน็กชั่นพิเศษกับขั้ว "เนวิน"
แม้ก่อนหน้านี้ช่วงที่มวลน้ำเพิ่งไหลเข้า จ.ปทุมฯในระยะแรก "พีระศักดิ์" จะแวะเวียนเข้าพบ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" รมว.มหาดไทย พร้อมกับแลกเบอร์โทรศัพท์กับ "กาย วิชัยดิษฐ" ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ "ยงยุทธ" ไว้เป็นเครื่องการันตีความสนิทก็ตาม แต่ก็ไม่อาจหนีรอดจาก "กรุผู้ตรวจราชการ" ไปได้
ข้ามฟากมาที่กระบวนการปรองดองสมานฉันท์ อันมี คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. (ปคอป.) ของ "ยงยุทธ" เป็นประธาน เพื่อนำกรอบการเยียวยาเหยื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ชุด "คณิต ณ นคร" เป็นประธาน
หน้าฉาก คณะกรรมการ ปคอป.ชุด "ยงยุทธ" เริ่มนับ 1 ประชุมกำหนดกรอบการเยียวยานัดแรก แต่หลังฉาก "พรรคเพื่อไทย" เดินเกมใต้ดิน โดยใช้ ส.ส.ประสานทุกองคาพยพปรองดอง เพื่อหาทางประกันตัวแกนนำ นปช.ที่ยังติดอยู่ในคุก
โดยมี "โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม" ทนายความของ "ทักษิณ" เป็นตัวชูโรงดึงกระแส แบ่งเนื้อที่ข่าวจากวิกฤตน้ำท่วม ด้วยการเดินสายเยี่ยมแกนนำ นปช.ที่ยังถูกจองจำในคุกต่าง ๆ ถึงรั้วลูกกรง ทั้งภาคกลาง ไปจนถึงภาคอีสาน
ที่สำคัญในห้วงเวลาเดียวกัน ในภาวะอุทกภัยยังคงดำรงอยู่ "คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ" หรือ คอ.นธ. อันมี "อุกฤษ มงคลนาวิน" เป็นประธาน ได้คลอดกรรมการ 10 คน ขึ้นมาเพื่อ ปฏิรูปกฎหมาย หวังก้าวข้ามคำว่า ใช้กฎหมาย 2 มาตรฐาน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงตัวประธานว่ามี "คอนเน็กชั่นพิเศษ" กับ "ทักษิณ"
ทุกตำแหน่งในตารางรายชื่อของฝ่ายบริหาร บัญชีของฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ ล้วนเป็นการฉวยจังหวะรุกทางการเมืองอย่างเงียบ ๆ ในภาวะที่ประเทศไทยเผชิญหน้าภาวะวิกฤตน้ำท่วมรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1320813931&grpid=no&catid=04&subcatid=
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น