วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กสทช. เตรียมคลอดแผนบริหารฯ เม.ย.’55 พร้อมตั้งสูตรคืนคลื่น 5/10/15 ปี

กสทช. เตรียมคลอดแผนบริหารฯ เม.ย.'55 พร้อมตั้งสูตรคืนคลื่น 5/10/15 ปี
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์23 พฤศจิกายน 2554 22:07 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
กสทช.คาดแผนคลื่นความถี่ฯเสร็จภายในเดือนเม.ย.'55 พร้อมเปิดประชาพิจารณ์ม.ค.นี้ โดยกำหนดสูตรคืนคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงคืนใน 5 ปี โทรทัศน์ 10 ปี โทรคมฯภายใน 15 ปีโดยมีผลทันทีหลังบังคับใช้แผนบริหารฯ ส่วนประเด็น 1 ปณ.บอร์ดยังตกลงเรื่องระยะเวลากันไม่ได้รอความชัดเจนสัปดาห์หน้า พร้อมเผย กสทช.มีคดีที่ถูกฟ้องอยู่กว่า 61 คดีที่ศาลปกครอง
       
       น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงวาระการประชุมบอร์ดวันนี้(23 พ.ย.) ว่าที่ประชุมมีมติสรุปในเรื่องการดำเนินการจัดทำร่างแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่แห่งชาติ ซึ่งยึดหลักร่างแผนเดิมที่บอร์ดเก่ากทช.ร่างไว้ก่อนหน้า โดยคาดว่าภายในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า วันที่ 30 พ.ย.จะมีการรับรองมติที่ประชุม และนำแผนบริหารคลื่นความถี่ฉบับเต็มขึ้นประกาศในเว็บไซค์ของสำนักงานกสทช. และน่าจะมีการจัดทำประชาพิจารณารับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ได้ในเดือนม.ค.คาดหากไม่มีการฟ้องร้องจะได้เห็นแผนฯฉบับสมบูรณ์ในเดือนเม.ย.ปี2555 หลังจากนั้นจะมีผลบังคับใช้ทันทีในการเรียกคืนคลื่น แต่ไม่รวมคลื่นที่อยู่ในสัมปทานเนื่องจากมีระยะเวลากำหนดในการคืนคลื่นอยู่แล้วตายตัว
       
       อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมีข้อสรุปกรอบระยะเวลาคืนคลื่นความถี่ทุกประเภทหลังจากเมื่อครั้งที่แล้วยังไม่ได้ข้อสรุป โดยกำหนดให้กิจการวิทยุกระจายเสียงต้องคืนคลื่นภายใน 5 ปี กิจการโทรทัศน์ต้องส่งคืนคลื่นใน 10 ปี และกิจการโทรคมนาคมภายในระยะเวลา 15 ปี โดยอ้างฐานการคำนวณเป็นไปตามอายุของไลเซ่นใหม่ที่จะออกให้ผู้ประกอบการ โดยเปลี่ยนแปลงจากร่างแผนบริหารคลื่นความถี่ฉบับเดิมที่กำหนดระยะเวลาในการคืนคลื่นทุกประเภทในเวลา 15 ปี แต่หากคลื่นความถี่ที่ถือครองได้รับสิทธิ์ตามสัญญาสัมปทาน จะต้องคืนคลื่นทันทีที่สัมปทานสิ้นสุด
       
       ทั้งนี้วิธีการคำนวณระยะเวลาการคืนคลื่นประเภทต่างๆ ได้คำนวณจากการออกใบอนุญาตใหม่ ตามสิทธิ์ของกสทช.ที่ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ที่กำหนดให้ไลเซ่นใหม่ของกิจการวิทยุกระจายเสียงมีอายุ 7 ปี กิจการโทรทัศน์มีอายุ 15 ปี ซึ่งคำนวณระยะเวลาการคืนคลื่นจาก 2 ใน 3 ของการให้ใบอนุญาตใหม่
       
       ขณะที่ในส่วนกิจการโทรคมนาคมจะคำนวณจากฐานการให้สัญญาสัมปานของ บมจ.ทีโอทีเฉลี่ยที่ 12 ปี ส่วนหลักการทำวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์สาธารณะจะต้องจัดทำให้เสร็จใน 4 ปี
       
       โดยขั้นตอนหลังจากแผนบริหารคลื่นความถี่ประกาศทางเว็บไซค์แล้ว กสทช.จะมีการเรียกหน่วยงานประชุมหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องมีการถือครองคลื่นประเภทต่างๆเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับกรอบการคืนคลื่น
       
       ท้ายสุดที่ประชุมนำเรื่องกรณีการเรียกคืนคลื่นความถี่วิทยุ 1 ปณ.โดยบอร์ดมีมติให้บอร์ดกิจการวิทยุกระจายเสียง-โทรทัศน์ (กสท) กลับไปพิจารณากรอบการเรียกคืนคลื่นมาใหม่ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากบอร์ดยังตกลงเกณฑ์ระยะเวลาในการคืนคลื่นไม่ได้ จากเดิมที่บอร์ดตั้งกรอบเวลาในการคืนคลื่นในเวลา 6 เดือน เนื่องจากสัญญา 1ปณ.จะหมดลงในวันที่ 30 ธ.ค.2554
       
       อีกทั้งที่ประชุมยังมีวาระเรื่องคดีความของกสทช.ที่ถูกฟ้องอยู่ในศาลปกครองในปัจจุบันกว่า 61 คดี แบ่งเป็นคดีวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ 2 คดี คดีที่เกี่ยวกับโทรคมนาคม 47 คดี และอีก 12 คดีที่เกี่ยวกับในส่วนกรรรมการ และอนุกรรม โดยทั้งหมดบอร์ดมีมติมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนนั้นๆไปดูแลดำเนินการให้แล้วเสร็จ

http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000149632

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น