อ.นิติฯ มธ. พลิกกม.ป้องกันฯ ปี 50 ชี้ชัดอปท.มีอำนาจสูงสั่งจัดการน้ำ
"กิตติศักดิ์ ปรกติ" แจงละเอียด กม.ป้องกันและบรรเทาฯ เป็นเครื่องมือจัดการน้ำสำคัญ แต่รบ.ใช้ไม่เป็น ยันอปท.-นายกอบต. หน่วยงานหลัก รับผิดชอบโดยตรง กลับถูกรัฐส่วนกลางรวบอำนาจ เครื่องมือไว้
วันที่ 25 มกราคม ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงมุมมองด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาด้านสาธารณภัย ในงานอาทรเสวนา "อภิมหาโปรเจกต์ สู้น้ำ : คิดดี คิดชอบ คิดรอบ หรือยัง?" ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาฯ
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า การรับมือกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แท้จริงแล้วประเทศไทยมีเครื่องมือ มีโครงสร้าง กลไกการผันน้ำและควบคุมน้ำ แต่ใช้ไม่เป็น นั่นคือ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2550 อีกทั้งความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับน้ำของคนในประเทศไทยก็มีมากพอ แต่คนที่มีความรู้ไม่ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม หรือไม่ถูกนำไปใช้เลย
"ในทางการเมืองมีหน่วยงานอย่าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมีรัฐธรรมนูญที่เน้นหลักการมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน รวมทั้งหลักในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เนื่องจากภาครัฐส่วนกลางไม่มีทางที่จะมีความรู้รายละเอียดทั้งหมด เพียงแค่รับเรื่องและส่งเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือส่วนท้องถิ่นที่ทำหน้าที่ลงมือปฏิบัติ แต่น้ำท่วมที่ผ่านมา ท้องถิ่นไม่สามารถทำหน้าที่ได้ เพราะถูกภาครัฐส่วนกลางรวบอำนาจและเครื่องมือไว้"
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในแง่กฎหมายที่เกี่ยวกับอุทกภัยมีอยู่กว่า 20 ฉบับ ฉบับที่สำคัญ คือ กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี 2550 ที่ประกาศใช้และให้อำนาจเต็มที่แก่เจ้าหน้าที่ เฉกเช่นกับเหตุสงคราม แต่เนื่องจากผู้ที่ได้รับมอบหมาย คือ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่อยู่ในฐานะที่ใช้ได้ และใช้ไม่เป็น
"ตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ กำหนดให้พลเมืองทุกคนมีหน้าที่ในการป้องกันพิบัติภัย เช่นเดียวกับที่พลเมืองชายทุกคน มีหน้าที่เป็นทหารป้องกันภัยสงครามของประเทศ โดยหากผู้นำออกคำสั่งใดๆ เพื่อป้องกันภัยพิบัติก็ไม่สามารถขัดแย้งได้ แต่อุทกภัยที่ผ่านมา นอกจากพลเมืองไม่ร่วมกันบริหารจัดการแล้ว ยังเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและหน่วยงานรับอีกด้วย"
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ทุกหน่วยงานมีหน้าที่ โดยมี รมว.มหาดไทย มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้บัญชาการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งประธานศูนย์ฯ และมีบรรดาผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นผู้อำนวยการ
"หน่วยที่สำคัญ คือ ผู้อำนวยการท้องถิ่น ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บรรดานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีอำนาจโดยตรงและอำนาจมากที่สุด สามารถร้องขอให้ผู้อำนวยการระดับสูงกว่า ให้ความความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนได้ ซึ่งขัดแย้งกับภาพการให้สัมภาษณ์ของหน่วยงานท้องถิ่น และนายกเทศมนตรีจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ที่อ้างว่า ไม่สามารถบริหารจัดการใดๆ ได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณและการสนับสนุนลงมจากภาครัฐส่วนกลาง"
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ยังกำหนดให้ผู้อำนวยการสามารถสั่งการหน่วยงานรัฐในเขตพื้นที่ตนเองได้ทั้งหมด ยกเว้นทหารที่ต้องใช้วิธีขอความร่วมมือ เช่น เครื่องมือของทหาร รวมทั้งสั่งการให้ผู้ใดกระทำการ ไม่กระทำการ หรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ขวางทางน้ำ หรือขวางการป้องกันและบรรเทาภัยได้
ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนอาจโดนจำกัดสิทธิเสรีภาพในการบริหารจัดการของรัฐตามกฎหมายนี้ แต่ก็จะได้รับการชดเชย และมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งเพื่อให้การช่วยเหลือรัฐในการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างง่ายขึ้น เห็นได้ชัดว่า แท้จริงแล้วอำนาจหน้าที่มี แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ และตามหลักการทางกฎหมายแพ่ง ก็ระบุว่าการกักน้ำไว้จนเกินจำเป็น หรือปฏิเสธไม่รับน้ำไม่สามารถทำได้ ต้องปล่อยให้ไหลตามธรรมชาติ หรือหากทำได้ก็ต้องชดเชยอย่างเหมาะสม
"ในกรณีกรุงเทพฯ เป็นเส้นทางที่น้ำต้องผ่าน ก็ต้องรับน้ำ แต่หากจะดำเนินการกักไม่ให้น้ำผ่าน จะต้องจ่ายค่าชดเชย และต้องเฉลี่ยน้ำให้ได้ ทั้งในช่วงรับน้ำแล้งและน้ำท่วม" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าว และว่า สำหรับกฎหมายอาญา เจ้าพนักงานที่ได้รับบริจาค หรือมีหน้าที่ในการดูแลรักษาของบริจาค หากเบียดบัง หรือแจกจ่ายของอย่างไม่สมควรก็ถือว่าผิดต่อระเบียบกฎหมาย
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการ กยน.อ้างว่า น้ำปี 2554 มีมากกว่าปกติ มีพายุตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายนและตุลาคม ทำให้การพยากรณ์ไม่แม่นยำ และจำเป็นต้องระบายน้ำในเขื่อนออกแม่น้ำเดียว โดยที่ระบบระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพ หรือเสื่อมสภาพ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กยน.ไม่ได้กล่าวถึง ความผิดพลาดทางนโยบาย ความสับสนในอำนาจหน้าที่ รวมถึงการละเลย ความบกพร่องในการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
ป้องกันฯ เลย อีกทั้งการสื่อสารภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ล้มเหลวมากที่สุด ไม่สื่อสารด้วยความจริงและความรู้ ทำให้ประชาชนป้องกันไม่ทัน หรือตระหนกเกินไปจนเกิดภาวะขาดแคลนตามมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น