เปิดตัวเว็บข่าวไทยพับลิก้าเจาะลึกความโปร่งใสภาครัฐ-เอกชน
Thu, 2011-09-15 02:21
วันนี้ (14 ก.ย.54) เมื่อเวลา 13.40 น. ที่ห้องประชุม 1011 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการเปิดตัวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ThaiPublica.org บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า และอดีตบรรณาธิการบริหาร นสพ.ประชาชาติธุรกิจ เล่าถึงที่มาของเว็บซึ่งจะเน้นการทำข่าวเชิงลึกที่ขาดไปในสื่อกระแสหลักปัจจุบันว่า ได้แรงบันดาลใจจากเว็บ propublica.org เว็บข่าวเจาะในอเมริกา ซึ่งสฤณี อาชวานันทกุล คอลัมนิสต์ของ นสพ.ประชาชาติธุรกิจมาขายไอเดีย โดยไทยพับลิก้า มีธีมหลักในการนำเสนอ 3 ธีม ได้แก่ ความโปร่งใสภาครัฐ ความโปร่งใสภาคเอกชนและความยั่งยืน
หน้าเว็บไซต์เนื้อหาหลักเบื้องต้นจะมี 5 ส่วน คือ ส่วนที่ 1.ข่าว ทั้งที่เป็นข่าวเจาะ และข่าวทั่วไป 2.คอลัมน์ 3.ฐานข้อมูลและอินโฟกราฟฟิค ซึ่งใช้ลักษณะพิเศษของเว็บไซต์ช่วยในการสื่อสารให้คนเข้าใจข้อมูลอย่างรวดเร็ว 4.Who's Who ดึงข้อมูลมาจากฐานข้อมูล ไฮไลท์ให้เห็นตัวละครที่น่าสนใจในเมืองไทย 5.บล็อกของนักข่าว เป็นพื้นที่ให้บรรณาธิการและนักข่าวได้พูดคุยกับผู้อ่าน และท้ายข่าวทุกข่าว ผู้อ่านสามารถแสดงความคิดเห็นหรือพูดคุยได้
สำหรับแหล่งรายได้นั้น เบื้องต้นได้เงินทุนให้เปล่าจากผู้สนับสนุน หลังจากนั้น คาดว่าจะมีรายได้จากการขายข้อมูลให้สื่อหลัก รับสปอนเซอร์ โฆษณา และรับเงินบริจาค
จากนั้น เป็นการเสวนาในหัวข้อ "สื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย" บรรยง พงษ์พานิช คณะกรรมการที่ปรึกษา สำนักข่าวไทยพับลิก้า และประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ตั้งข้อสังเกตถึงการที่สื่อไทยถูกวิจารณ์ว่าไม่เจาะลึกปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำและการที่ประเทศไม่พัฒนาว่า เกิดจากการที่สื่อหลัก อยู่ได้ด้วยทรัพยากรและการลงโฆษณาของหน่วยงานรัฐ ทำให้การกลับไปวิจารณ์ผู้ให้การสนับสนุนเป็นเรื่องลำบาก นอกจากนี้ ในด้านคุณภาพและต้นทุนของสื่อ มองว่า เนื่องจากผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมไทยให้สัมภาษณ์ทุกที่ทุกเวลาทุกโอกาส ทำให้สื่อต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการติดตามทำข่าว โดยเวลาที่ใช้มากที่สุดคือการรอ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาน้อย ขณะที่ต้นทุนสูง ส่งผลถึงการจ่ายเงินที่ได้น้อยตาม และเมื่อจ่ายน้อย ก็ยากจะพัฒนาคุณภาพ
บรรยง มองว่า การที่สื่อจะอยู่รอดนั้น นอกจากการที่ภาคธุรกิจที่ลงโฆษณาต้องไม่แทรกแซงกองบรรณาธิการแล้ว สื่อเองก็ต้องลดต้นทุนลงด้วย โดยชี้ว่า ขณะที่สำนักข่าวในไทยบางแห่ง มีนักข่าวตามนายกฯ 6 คน สำนักข่าววอชิงตันโพสต์มีนักข่าวทำข่าวประธานาธิบดีคิดเป็น 1/5 คน เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะพูดสัปดาห์ละครั้ง และบอกล่วงหน้าทุกครั้ง ซึ่งหากสื่อไทยลดตรงนี้ได้ ก็จะมีเวลาทำข่าวเชิงคุณภาพ
ทั้งนี้ บรรยง กล่าวด้วยว่า สื่อมีส่วนอย่างมากในการต้านคอร์รัปชั่น เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลสูงมากในการชี้นำความคิดของสังคม เขามองว่า สื่อเท่านั้นที่จะเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนต่อการคอร์รัปชั่นได้ นอกจากนี้ สื่อต้องทำหน้าที่ตรวจสอบเชิงลึก ติดตามรายงานข่าว สอดส่องไม่ให้ทรัพยากรสาธารณะถูกปล้นชิงไปด้วย
ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ และคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า กล่าวว่า ขณะที่สื่อมีปัญหาด้านคุณภาพ และเราก็เข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย ที่อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ เป็นสังคมของคนทุกคน หรือที่หลายคนบอกว่าเป็นนวัตกรรมที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อธุรกิจสื่อไทย ตั้งคำถามว่าสื่อไทยได้ปรับตัว หรือใช้ประโยชน์กับมันมากแค่ไหน ทั้งนี้ ในโลกที่ข้อมูลไหลเร็ว ซึ่งทักษะของนักข่าวในการแยกแยะ ประติดประต่อ ประมวลวิเคราะห์ข้อมูลมานำเสนอเป็นที่ต้องการ แต่กลับยังไม่เห็นการทำหน้าที่นี้เท่าที่ควร
สัมภาษณ์สื่อน้องใหม่ ThaiPublica.org : "ไทยพับลิก้า กล้าพูดความจริง"
สัมภาษณ์โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
อยากจะให้คุณสฤณีเริ่มก่อนว่าไทยพับลิก้าคืออะไร และเริ่มต้นแนวคิดมาอย่างไร
สฤณี: ไทยพับลิก้าเป็นสำนักข่าวสืบสวนสอบสวนซึ่งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ จริงๆแรงบันดาลใจมีมานานพอสมควรแล้ว ตั้งแต่เข้าเว็บ propublica.org ของอเมริกา เป็นเว็บที่ทำเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงลึก ขณะเดียวกันสังเกตุเห็นว่าข่าวหนังสือพิมพ์ไทยมีข่าวเชิงลึกหรือแนวนี้น้อยลงเรื่อยๆ เรื่องที่อยากอ่านบางครั้งก็หาอ่านไม่ได้ ต้องไปคุย ต้องใช้ความพยายามมากที่จะรู้ข้อมูลเชิงลึกต่างๆ
เรียกว่าบ่นให้พี่ๆ นักข่าวฟังมาพอสมควร รู้สึกว่า propublica เป็น โมเดลที่น่าจะมีในเมืองไทย เพราะว่ามีความเป็นมืออาชีพสูงมาก คนที่ก่อตั้งเป็นนักข่าวอาชีพ
คนที่ก่อตั้งมาจากไหนกันบ้าง
คุณสฤณี : มาจากนิวยอร์คไทม์ส์ วอลลสตรีทเจอนัล เป็นหนังสือพิมพ์หลักของอเมริกา คนหนึ่งมีตำแหน่งอดีตบรรณาธิการบริหาร เป็นผู้อาวุโสพอสมควร เน้นเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนอย่างเดียว ทำในประเด็นที่ตามติดสถานการณ์ต่อเนื่อง เรื่องที่ประทับใจมากมี 2 เรื่อง คือ
เรื่องแรกการเจาะข่าววิกฤติการเงินในอเมริกา เรารู้ว่ามีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มีธนาคารล้ม แต่ไม่รู้จักตัวละครที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นนักการเงิน คนที่ทำงานในบริษัทจัดอันดับเครดิตดิตเรตติ้ง เราไม่รู้ว่าซีดีโอที่มีปัญหานั้นวาณิชธนกิจแต่ละเจ้าเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน แต่ propublica ทำข่าวนี้ต่อเนื่องมาก และมีการประมวลข้อมูลทำมาออกมาเป็นอินโฟกราฟฟิคเข้าใจง่าย อย่างเช่นชาร์ตว่าซีดีโอมีกี่ดีลที่บริษัทวาณิชธนกิจไปซื้อกลับมา เป็นข้อมูลเชิงลึกที่คนอ่านไม่สามารถหาเองได้ เขาทำเป็นซีรีส์ยาว ใช้ชื่อ "วอลสตรีท มันนี่ แมชีน" (http://www.propublica.org/series/the-wall-street-money-machine) ให้เห็นลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนในภาคการเงิน
อีกข่าวที่สนุกมากคือข่าวนิวออร์ลีนส์ ที่เกิดพายุ มีคนทำข่าวเรื่องน้ำท่วม ปัญหาการช่วยเหลือที่ไปไม่ถึง แต่propublica ไปตามสถานการณ์ต่อจากนั้น ว่าหลังที่ไม่เป็นข่าวในสื่อหลักแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีคนที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างไร เป็นปัญหาของรัฐบาลกลางแค่ไหน (http://www.propublica.org/nola) ข่าวในซีรี่ส์นี้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ที่เว็บไซต์ข่าวที่ไม่มีหนังสือพิมพ์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ก็เปลี่ยนความคิดของคนพอสมควรว่าเว็บไซต์ทำอะไรได้บ้าง
นี่คือ propublica พอมาเป็น thaipublica เริ่มอย่างไร
คุณสฤณี : เริ่มจากการบ่นและชักชวน และได้รู้จักคุณบุญลาภ ภูสุวรรณ อดีตบรรณาธิการบริหาร น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ รู้จักกันมาสักพักใหญ่เพราะเขียนคอลัมน์ให้ประชาชาติธุรกิจ ก็บ่นเรื่องวงการสื่อ พอบ่นถึงจุดหนึ่ง ก็ชวนกันว่ามีโมเดลการทำข่าวแบบนี้ เป็นไปได้ที่จะทำข่าวเจาะที่อยู่บนเว็บไซต์อย่างเดียวและได้รับการยอมรับ หากมีทีมนักข่าวที่มีประสบการณ์ ก็ไม่น่ายาก และคุณบุญลาภก็มองเห็นข้อจำกัดว่าข่าวเจาะไม่ใช่ขาขึ้นของสื่อในเมืองไทย ก็สนใจที่จะมาช่วยคิดว่าจะทำให้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ถามคุณบุญลาภว่าอะไรที่สื่อไทยมีข้อจำกัด ที่ไม่สามารถทำข่าวเจาะ ได้ดีอีกต่อไปในฐานะที่อยู่ในวงการมานาน
คุณบุญลาภ : ด้วยสภาวะของความอยู่รอดของธุรกิจ นั่นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้การนำเสนอข่าวเปลี่ยนไป ปัจจุบันแทบจะไม่มีข่าวเจาะอย่างที่คุยกัน และสื่อมวลชนเองก็เซ็นเซอร์ตัวเองระดับหนึ่งที่จะไม่นำเสนอข่าวเจาะที่จะไปแตะกลุ่มทุนที่สนับสนุนอยู่ หรือถ้าทำข่าวเจาะก็น้อยมาก
ที่ผ่านมาสื่อถูกรัฐแทรกแซงด้วยอำนาจรัฐ และต่อมาด้วยอำนาจทุนเข้ามาแทรกเสริมทำให้การทำข่าวเจาะที่กระทบกระเทือนกลุ่มทุนทำลำบากขึ้นไหม
คุณสฤณี : ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อต้องอยู่ได้ด้วยโมเดลธุรกิจ พอสื่ออินเตอร์เน็ตที่เป็นสื่อใหม่ที่มาแย่งผู้อ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ ค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องหนังสือพิมพ์เองที่ไม่กล้าทำข่าวบางเรื่อง เพราะกระทบกับสปอนเซอร์ คนจึงไปหาสื่อทางเลือกแทน พอคนอ่านน้อยลง ยอดขายตก ต้องพึ่งพาโฆษณา ทำให้กลุ่มทุนมีอิทธิพลมากขึ้น และตามหลักการการโฆษณาตรงๆ ก็ไม่สามารถทำได้ แทนที่จะขายตรงอย่างเดียวก็เพิ่มโฆษณาแฝงอย่างเช่นจัดอีเวนท์แทน บทบาทสื่อจึงแย่ลงไปอีกชั้น ทำให้การแยกบทบาทสื่อในการทำอีเวนท์ ทำพีอาร์ กับการทำงานนักข่าวยากขึ้น
วงการสื่อมวลชนทำงานลำบากอย่างไรในการทำงานช่วงหลังไม่ว่าจะ อยู่ค่ายสื่อไหน
คุณบุญลาภ : การนำเสนอข่าวมีข้อจำกัดตามกลุ่มทุนที่สนับสนุนไม่ว่าจะเป็นจากในส่วนของภาครัฐที่เป็นหน่วยงานต่างๆหรือบริษัทเอกชน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับประชาสัมพันธ์ จะมีเส้นแบ่งที่น้อยลงเรื่อยๆ เป็นเส้นแบ่งที่บางมากๆ การนำเสนอข่าวเจาะก็ทำยากลำบากขึ้น
คำถามว่าเว็บไซต์ข่าวไทยพับลิก้าจะอยู่รอดอย่างไร จะอยู่ได้นานแค่ไหน
คุณสฤณี : แหล่งรายได้เบื้องต้นเรามีทุนตั้งต้นจากผู้ที่สนับสนุนเจตนารมณ์ เป็นเงินบริจาคโดยไม่มีเงื่อนไข ก่อนอื่นต้องอธิบายธีมหลักของเว็บไซต์เพราะจะเชื่อมโยงกับการกับหารายได้ เว็บข่าวมีธีมหลัก มี 3 ธีม คือธีมแรกเรื่องความโปร่งใสภาครัฐ เป็นเรื่องทางการเมือง เรื่องนโยบาย ในแง่ข่าวเจาะจะพยายามสืบค้น เจาะลึกเบื้องหน้าเบื้องหลังปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ
ธีมที่สองเป็นเรื่องความโปร่งใสภาคเอกชน อาทิ ปัญหาความโปร่งใสของบางองค์กร ปัญหาการใช้อำนาจผูกขาด ปัญหาการใช้อำนาจเหนือตลาด ทำไมกฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่ทำงาน
ธีมที่สามเป็นเรื่องความยั่งยืน ตอนนี้เป็นกระแสชัดเจนทั้งในเรื่องซีเอสอาร์ แต่การทำงานของสื่อถูกกำหนดวาระด้วยการประชาสัมพันธ์ จะนำเสนอประเด็นนี้อย่างไรให้รอบด้านและเป็นอิสระ เวลาอ่านประเด็นความยั่งยืนจะได้ไม่ซ้ำซ้อนกับเนื้อหาประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ของบริษัทต่างๆ
พอมีธีมมี 3 ธีมที่กล่าวมา 2 ธีมแรกคือความโปร่งใสภาครัฐ ความโปร่งใสภาคเอกชน ดังนั้นแหล่งทุนที่เราจะมองหาส่วนหนึ่งจึงเป็นองค์กรที่ ส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชั่น ส่งเสริมความโปร่งใส ส่งเสริมธรรมาภิบาล โดยอาจจะเป็นการทำข้อมูล/ ข่าวให้องค์กรเหล่านั้นไปใช้ในเว็บไซต์
นอกจากนี้เราก็มีแผนที่จะหารายได้จากสมาชิก ซึ่งโมเดลที่ทำในต่างประเทศก็อย่างเช่น ถ้าคนอ่านข่าว 30 ชิ้นต่อเดือน อ่านฟรี ถ้าอยากอ่านมากกว่านี้ต้องสมัครสมาชิก
คนทั่วไปหากสนใจเว็บไซต์นี้จะทำอย่างไร รับบริจาคได้ไหม
คุณสฤณี : รับเงินบริจาคด้วย นอกจากนี้ยังจะรับสปอนเซอร์และโฆษณาบนเว็บไซต์ โดยแน่นอนว่าเงื่อนไขคือต้องให้กองบรรณาธิการสามารถทำงานอย่างเป็นอิสระได้
เท่าที่ระดมทุนมาจะอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าเงินหมดจะทำอย่างไร
คุณสฤณี : เงินหมดก็ต้องหา เงินทุนตั้งต้นเท่าที่มีอยู่จะได้ประมาณ 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง
หลังจากนั้นค่อยมาว่ากันใหม่ หรือการหาทุนไปเรื่อยๆ
คุณสฤณี : ระหว่างนี้ก็หาทุนตามแนวทางที่กล่าวไปแล้ว และอีกทางหนึ่งการผลิตข่าวขายให้สื่อกระแสหลัก หลายประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่ทำเองด้วยหลายๆเหตุผล จะด้วยต้นทุน หรือทางธุรกิจ แต่ว่าหลายประเด็นสื่อกระแสหลักมองเห็นว่ามันเป็นข่าว อย่าง propublica ทำเขาเล็งเห็นว่าข่าวชิ้นนี้ใครจะสนใจเอาไปลง อาจจะเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เขาก็จะขายข่าวให้ และลงชื่อให้ว่ามาจากไหน จากนั้นก็ตกลงกันเรื่องระยะเวลา ค่อยเอามาขึ้นเว็บไชต์ตัวเอง การเจรจาคงเป็นชิ้นต่อชิ้น และทำในลักษณะเอ็กซ์คลูซีฟ ซึ่งตรงนี้ต้องคิดเป็นโมเดลธุรกิจ
ข่าวที่จะเห็นเป็นอย่างไร ความถี่จะมากน้อยแค่ไหน ธรรมชาติของไทยพับลิก้าคืออะไร และหน้าตาเว็บไซต์จะเป็นอย่างไร
คุณสฤณี : ธรรมชาติน่าจะคล้ายกับรายสัปดาห์มากกว่า แต่จะมีข่าวขึ้นทุกวัน เฉลี่ยวันละ 2-3 ชิ้น เวลาพูดถึงข่าวเจาะจะมีหลายชิ้นในซีรี่ส์เดียว แต่ละชิ้นจะมีความยาวไม่มาก และเราอยากให้นักข่าวมีเวลาไปทำข่าวเจาะมากขึ้น
หน้าเว็บไซต์เนื้อหาหลักเบื้องต้นจะมี 5 ส่วน คือ ส่วนที่ 1. ข่าว ทั้งที่เป็นข่าวเจาะ และข่าวทั่วไป 2. คอลัมน์ 3. ฐานข้อมูลและอินโฟกราฟฟิค โดยใช้ประโยชน์จากความเป็นเว็บไซต์ที่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนสิ่งพิมพ์ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด บนเว็บไซต์มีโปรแกรมที่ช่วยในการสื่อสารให้คนเข้าใจอย่างรวดเร็วได้ เราจะพยายามใช้ลูกเล่นต่างๆ ที่จะสร้างความแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ ส่วนที่ 4. Who's Who ดึงข้อมูลมาจากฐานข้อมูล ไฮไลท์ให้เห็นตัวละครที่น่าสนใจในเมืองไทย 5. บล็อกของนักข่าว เป็นพื้นที่ให้บรรณาธิการและนักข่าวได้พูดคุยกับผู้อ่าน และท้ายข่าวทุกข่าวผู้อ่านก็สามารถแสดงความคิดเห็นหรือคุยกับเราได้อยู่แล้ว
สำนักข่าวไทยพับลิก้าจะเปิดตัว และเสวนาในหัวข้อ "สื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย"
ในวันพุธที่ 14 กันยายน 2554 ณ ห้องประชุม 1101 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
13.00 น. ลงทะเบียน
13.40 - 14.00 น. เปิดตัวสำนักข่าวไทยพับลิก้า ThaiPublica.org
14.00 - 16.00 น. เสวนา "สื่อกับการสร้างความโปร่งใสประเทศไทย" โดย
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม
คณะกรรมการที่ปรึกษา สำนักข่าวไทยพับลิก้า และ
กรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
คุณบรรยง พงษ์พานิช
คณะกรรมการที่ปรึกษา สำนักข่าวไทยพับลิก้า และ
ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)
คุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา
คุณสฤณี อาชวานันทกุล
นักเขียนอิสระ และคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า
ดำเนินรายการโดย คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
*ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ThaiPublica
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น