วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

iLaw: นักสิทธิคนไข้ย้ำ ร่างคุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยลดคดีฟ้องหมอ Sat, 2010-08-28 02:43

 

iLaw: นักสิทธิคนไข้ย้ำ ร่างคุ้มครองผู้เสียหายฯ ช่วยลดคดีฟ้องหมอ

ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคฯ ยัน ควรมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ระบุระบบสาธารณสุขไทยมีหลายมาตรฐาน เลขาธิการ สปสช.เผยสถิติ หลังช่วยเหลือเบื้องต้นผู้เสียหาย การฟ้องหมอลดลงอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.53 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จัดเสวนาเรื่อง สภาปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข กรณี ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ... ที่โรงแรม ที เค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อทำความเข้าใจและหาฉันทามติเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้ โดยมีหลายกลุ่มเข้าร่วม อาทิ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภูมิภาคต่างๆ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ เครือข่ายมะเร็ง ชมรมเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เครือข่ายจิตเวช เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์

 

ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา เรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ: สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยยกตัวอย่างสังคมอเมริกันว่า ในกฎหมายของสหรัฐอเมริการะบุไว้ถึงสิทธิของคนไข้ที่จะได้รับคำอธิบายจากแพทย์ผู้รักษา ถ้าคนไข้ยินยอมตามที่แพทย์บอกก็รักษาได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษาว่าจะอธิบายได้ขนาดไหน ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการฟ้องร้อง ตัวอย่างเช่น เคยมีแพทย์ไทยโดนฟ้องที่สหรัฐอเมริกา และถูกศาลตัดสินให้ใช้ค่าเสียหาย เนื่องจากตัดมดลูกโดยไม่ได้บอก

ทั้งนี้ ระบบกฎหมายเรื่องการละเมิดของสหรัฐอเมริกาจะคิดค่าเสียหายในเชิงลงโทษ ทนายความในสหรัฐอเมริกามักจะมีความสามารถทางด้านศัพท์ทางแพทย์ ใครจ้างฟ้องหมด ในบางครั้งทนายความยังหากินกับผู้ป่วยโดยตกลงกันว่า หากแพ้คดีจะว่าความให้ฟรี แต่ถ้าชนะคดีให้แบ่งเงินค่าเสียหายที่ได้รับครึ่งหนึ่ง ด้านหมอนั้นก็จะมีระบบประกันภัยที่รับผิดแทนแพทย์ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะรับผิดไม่เกินร้อยละ 50 ของความเสียหาย ส่วนที่เหลือ แพทย์ต้องจ่ายเอง

บางประเทศ เช่น ในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่ต้องการให้เกิดการฟ้องร้อง จึงมีระบบประกันความรับผิดโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด ระบบนี้จะมีกองทุน ถ้าผู้เสียหายได้รับความเสียหายก็นำเงินจากกองทุนนี้ใช้ไป เงินในกองทุนนี้จะเก็บสะสมจากผู้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีข้อยกเว้น

ศ.นพ.วิฑูรย์ ชี้ว่า ประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีแนวคิดนี้ โดยระบุในมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ให้กันเงินเพื่อชดเชยความบกพร่องจากการใช้บริการ และประสบการณ์ของการใช้มาตรานี้เห็นได้ชัดว่า ใช้ได้ผล สามารถคุ้มครองผู้เสียหาย และเมื่อเยียวยาความเสียหายแล้วก็ทำให้ไม่ค่อยมีการฟ้องร้องต่อศาล

"มาตรา 41 ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด"

จากสถิติการใช้มาตรา 41 เห็นว่าส่วนใหญ่ไม่มีการฟ้องศาล เพราะเมื่อมีกฎหมายนี้ออกมาจะคุ้มครองผู้เสียหาย โดยมีกองทุนที่จะจ่ายเงินให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการรักษาความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายได้

ศ.นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ วงการสาธารณสุขมีความเป็นธุรกิจสูง เรื่องยาก็เป็นธุรกิจ โรงพยาบาลก็เป็นธุรกิจ

"คนจนไม่มีที่พึ่งถ้ายาแพง ถ้าไม่มีบัตรทองคนจนก็เดือดร้อน ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายฯ นี้จะเป็นตัวลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมให้คนจน" ศ.นพ.วิฑูรย์ กล่าว

ทางด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวในการอภิปรายเรื่อง ประโยชน์ที่สาธารณชนจะได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองเสียหายฯ โดยกล่าวถึงผลจากการใช้มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า แม้เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น แต่สามารถลดการฟ้องร้องได้ สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดคือ กรณีขอนแก่นโมเดล ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 53 ที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น มีผู้เข้ารับการรักษาผ่าตัดต้อกระจอ แต่เกิดติดเชื้อจนเป็นเหตุให้ตาบอด โดยทันทีที่เกิดปัญหา คณะแพทย์ได้ออกมาขอโทษและรับผิด พยายามอธิบายและเอาใจใส่ดูแลอาการของผู้ป่วย กรณีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ปัญหาทางการแพทย์ไม่ว่าเรื่องใด จะเป็นกรณีที่แพทย์เป็นผู้ทำผิดพลาดหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อเหตุเกิดที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะต้องรับผิดชอบ

นพ.วินัยกล่าวถึงสถิติของผู้เสียหายที่ใช้มาตรา 41 ว่า เมื่อมีการคุ้มครองผู้เสียหายแล้ว การฟ้องร้องลดลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ตั้งแต่ช่วงปี 2547 – 2553 มีความเสียหายที่เข้าข่ายมาตรา 41 จำนวน 2,719 ครั้ง แต่ฟ้องเพียงแค่ 26 ครั้ง

ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน กฎหมายเอื้อต่อการฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยฟ้องเพราะไม่ค่อยมีใครอยากเป็นความ ขึ้นโรงขึ้นศาล เว้นแต่กรณีจำเป็นหรือเหลืออดจริงๆ กรณีขอนแก่นโมเดล เห็นได้ชัดว่าเป็นการลดอุณหภูมิครุกรุ่น เพราะมีการเอาใจใส่ดูแลต่อผู้ป่วย มีการยอมรับผิดและรับต่อความเป็นจริง ผิดกับกรณีที่หากสถานพยาบาลไม่ยอมรับผิดหรือรับฟัง เช่นนี้ย่อมเป็นการผลักดันให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาล

ดร.นนทวัชร์ เห็นว่า ถ้าสร้างกระบวนการพูดคุยและเยียวยาอย่างทันท่วงทีแล้ว ตามปกติวัฒนธรรมของไทยมักไม่ฟ้องร้อง ขอเพียงคุยและฟังเราพูด จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นตัวสร้างสัมพันธภาพที่ดี ทำให้เกิดกระบวนการเยียวยาเกิดขึ้นรวดเร็วและเป็นธรรม โดยไม่จำเป็นต้องบอกว่าใครถูกหรือผิด และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เข้าเกณฑ์รักษา แต่จะมีระบบกลั่นกรองอีกทีว่าความเสียหายอย่างไรเข้าเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งทั้งหมด และทำให้กระบวนคลี่คลายก่อนไปถึงศาล

บุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวว่า สิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์กลัวคือการฟ้องศาล แต่แม้ไม่มีร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็ฟ้องศาลได้อยู่แล้ว เพียงแต่ยุคนี้เป็นยุคข้อมูลข่าวสารทำให้มีแนวโน้มของการฟ้องร้องมากขึ้น

บุญยืนอธิบายว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นการขยายผลของมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการเยียวยาทั้งทางร่างกาย และเยียวยาความทุกข์ใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บุญยืนเสริมเพิ่มเติมว่า ถึงอย่างไรก็ควรจะมีกฎหมายฉบับนี้ เพราะระบบสาธารณสุขของไทยมีหลายมาตรฐาน เช่น ในด้านหนึ่งบอกว่า ระบบการแพทย์ยังไม่มีเครื่องมือเพียงพอที่จะรักษาคนไข้ภายในประเทศ แต่อีกมุมหนึ่งกลับโหมโฆษณาออกสื่อต่างชาติว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่พร้อม

ในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ที่มาของกองทุนนั้นควรมาจากไหน โดยได้ข้อสรุปว่า ควรมาจาก 3 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพ หักมาไม่เกินร้อยละ 1 หากไม่เพียงพอก็สามารถเพิ่มได้ และมีเพดานขั้นต่ำ

ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอว่า สถานบริการของโรงพยาบาลควรจะต้องเปิดดูแลทั้ง 24 ชั่วโมง และบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเห็นว่าปกติแล้ว เมื่อเป็นวันหยุด โรงพยาบาลมักจะไม่มีแพทย์ประจำรักษา ซึ่งจะกระทบกับผู้ใช้บริการได้

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://ilaw.or.th/node/545

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น