TCIJ: ไฟเขียวนักการเมืองใหญ่ ฮุบแร่โปแตชด่านขุนทด เมืองโคราช
Wed, 2011-10-05 23:01
เอ็นจีโอซัดจ้องเขมือบผลประโยชน์เกลือมหาศาลมากกว่าแร่คุณภาพต่ำ นักวิชาการเตือน ผุดเหมืองแร่ชัยภูมิ เตรียมรับมือคนอีสานฮือต้าน เหตุเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมชัด
วันนี้ (5 ต.ค.54) รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งว่า ได้มีการออกใบอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่โปแตช ให้กับ บจก.ไทยคาลิ จำนวน 4 แปลง ในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยมีเนื้อที่ 4 หมื่นไร่ ใน ต.หนองบัวตะเกียด ต.หนองไทร ต.โนนเมืองพัฒนา ต.หนองไทร โดยอาชญาบัตรสำรวจมีอายุ 5 ปี คืออยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2553 - สิงหาคม 2558
นอกจากนี้รายงานข่าวยังระบุอีกว่า บจก.ไทยคาลิ ยังดำเนินการคำขออาชญาบัตรพิเศษ ในพื้นที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ อีก 7 แปลง โดยเป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับการอาชญาบัตรในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด ที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว ทั้งนี้ ขั้นตอนการขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาเปิดพื้นที่ตามมาตรา 6 ทวิ ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ที่บัญญัติว่า ภายในพื้นที่ใดๆ ที่กำหนดให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ตามมาตรา 6ทวิ ผู้ใดยื่นคำขออาชญาบัตร (อาชญาบัตรสำรวจแร่ อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ หรือ อาชญาบัตรพิเศษ) ประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตรไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นสมควรให้ยื่นคำขอได้เป็นกรณีพิเศษโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บจก.ไทยคาลิ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 10,000,000.00 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) กรรมการบริษัทมี 2 คน คือ นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย
นางอินทิรา สงวนศ์ชัย บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เป็นคนไทย 6 คน จำนวน 99,000 หุ้น ต่างด้าว 1 คน เป็นนักธุรกิจชาวออสเตรเลีย ถือหุ้น 1,000 หุ้น
ทั้งนี้ นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย เป็นอดีต ส.ส.ชัยภูมิ กลุ่มลำตะคอง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระหว่างปี 2542-2544 แต่ถูกสิทธิ์ทางการเมืองบ้านเลขที่ 111 สมัยอยู่พรรคไทยรักไทย หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นนายวุฒิชัย ยังถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการชักนำ นายชาญชัย รวยรุ่งเรือง หรือ เหยียนปิน ให้เข้ามาถือหุ้นในโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และมีส่วนสำคัญในการผลักดันแก้ไขกฎหมายแร่ พ.ศ.2545 เพื่อสนับสนุนให้มีโครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์เกิดขึ้น
ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ บจก.ไทยคาลิ มีทุนจดทะเบียนแค่สิบล้านบาท ส่วนตัวมองว่าเป็นการจดจองพื้นที่เอาไว้ก่อน เพราะหากจะลงทุนทำเหมืองโปแตชจริง จะต้องใช้เงินลงทุนเป็นพันๆ ล้านบาท คิดว่าหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการสำรวจแล้ว ไม่มีทางที่จะทำเอง นอกจากจะขายต่อในลักษณะนายหน้ามากกว่า เพราะคุณภาพแร่โปแตชด่านขุนทดที่เป็นพื้นที่ใกล้เคียงกับพื้นที่บำเหน็จณรงค์ เป็นแร่โปแตชชนิดคัลร์นัลไลท์ ที่มีเปอร์เซ็นต์โปแตชต่ำ การลงทุนย่อมไม่คุ้ม แต่สิ่งสำคัญที่ต้องการมากกว่าคือผลประโยชน์เกลือที่มีมูลค่า
"ขบวนการต่างๆ ที่ผ่านมา ชาวบ้านรับรู้ข้อมูล และการมีส่วนร่วมน้อยมากในพื้นที่ รัฐบาล กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ให้ข้อมูลด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริงกับชาวบ้าน ให้แต่ข้อมูลด้านเดียวคือเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งมันเป็นเรื่องนามธรรมมาก" นายสุวิทย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ได้เขียนเอกสารการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ของเกลือโปแตชในภาคอีสาน โดยในช่วงหนึ่งของบทความดังกล่าวระบุประเด็นที่น่าสนใจว่า ขณะนี้มีบริษัทที่ได้รับประทานบัตร และได้รับ /ขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชแล้ว 7 บริษัทใน 6 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งหมด 654,145 ไร่ บริษัทที่จะทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้นไปอีก คือ บริษัทที่ได้รับประทานบัตรแล้ว ถ้าเกิดปัญหาผลกระทบจากการขุดหรือแต่งแร่ขึ้น ไม่ว่าในด้านใดก็ตามในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ จะทำให้โครงการทั้งหมดอีก 5 จังหวัดต้องหยุดลงทันที เพราะจะเกิดเครือข่ายประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้านในภาคอีสานทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น