วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

"ทีโอที"เร่งรื้อโทรศัพท์สาธารณะ2หมื่นตู้แปลงโฉมเป็น"ตู้เติมเงิน-เล่นเน็ต"

 
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 11:22:33 น.

"ทีโอที"เร่งรื้อโทรศัพท์สาธารณะ2หมื่นตู้แปลงโฉมเป็น"ตู้เติมเงิน-เล่นเน็ต"

Share40




"ทีโอที" แปลงโฉมตู้ฮัลโหลสาธารณะเป็น "ตู้เติมเงินมือถือ-ติดตั้งสัญญาณไว-ไฟ" พร้อมพัฒนาโทรศัพท์สาธารณะรูปแบบใหม่ ใช้ได้สารพัดประโยชน์ ทั้งเล่นเน็ต-เติมเงินออนไลน์" ยอมรับเข้าสู่ยุคขาลง หลังมือถือตีตลาด ทั้งเร่งมือรื้อถอนตู้เปล่าอีก 2 หมื่นแห่งทั่วกรุง ขีดเส้นให้เสร็จภายในเดือน ก.พ.ปีหน้า



นายทวีป เพ็ชร์สุวรรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานขายและบริการลูกค้านครหลวง บมจ.ทีโอที เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ทีโอทีกำลังเร่งรื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะที่หมดสัญญาเช่ากับเอกชน แต่ยังไม่ได้รื้อถอนอีกประมาณ 20,000 ตู้ในพื้นที่กรุงเทพฯให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 2555 ตามกรอบเวลาของกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่เดิมตู้เหล่านี้เป็นตู้เก่าที่เปิดให้บริษัทเอกชน 11 แห่ง ทำสัญญาเช่าเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ และสิ้นสุดสัญญาไปเมื่อเดือน ก.ย. 2554 ที่ผ่านมา

"ตู้สาธารณะส่วนใหญ่ที่เห็นว่าทรุดโทรม ชำรุด คือตู้ที่หมดสัญญาเช่าไปแล้ว กำลังรอรื้อถอน บางจุดยังไม่ได้รื้อถอน แต่มีการนำป้ายโฆษณาไปติด ซึ่งกรุงเทพมหานครมองว่าทำให้สูญเสียรายได้จากการตั้งป้ายโฆษณา แต่ทีโอทีเข้าไปชี้แจงแล้วว่ากำลังอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการรื้อถอนให้"

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ทีโอทีได้ดำเนินการรื้อตู้โทรศัพท์สาธารณะไปแล้วประมาณ 100,000 ตู้ ขณะที่รายได้จากการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ตามเทรนด์ของเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประกอบกับสิ้นสุดสัญญาเช่าเครื่องกับบริษัทเอกชนพอดี 

ล่าสุดในไตรมาส 2 ปีนี้ ทีโอทีมีตู้โทรศัพท์สาธารณะทั่วประเทศประมาณ 400,000 ตู้ แยกเป็นเขตนครหลวงราว 2 แสนเลขหมาย แบ่งเป็นของทีโอทีประมาณ 60,000 เลขหมาย ของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น 26,000 เลขหมาย ที่เหลือกว่า 100,000 เลขหมาย เป็นของ 11 บริษัทเอกชนที่หมดสัญญาเช่าและอยู่ระหว่างกำลังรื้อถอน ส่วนภูมิภาคอีกประมาณ 200,000 เลขหมาย เป็นสัมปทานของ บมจ.ทีทีแอนด์ทีราว 25,000 เลขหมาย ที่เหลือเป็นเลขหมายของทีโอทีเอง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 400 บาท แต่ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแต่ละตู้อยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อเดือน

จากงบการเงินของทีโอทีระบุว่า รายได้จากบริการโทรศัพท์สาธารณะช่วงครึ่งปีแรกปี 2554 ในเขตนครหลวงมีรายได้ 120 ล้านบาท เขตภูมิภาค 213 ล้านบาท ของทรู 111 ล้านบาท ทีทีแอนด์ที 51 ล้านบาท ขณะที่ทั้งปี 2553 ที่ผ่านมามีรายได้จากบริการโทรศัพท์สาธารณะในเขตนครหลวง 360 ล้านบาท ภูมิภาค 591 ล้านบาท ส่วนทรูมีรายได้ 328 ล้านบาท ทีทีแอนด์ทีที่ 132 ล้านบาท

นายทวีปกล่าวต่อว่า ทีโอทีจะไมˆติดตั้งตู้โทรศัพท์สาธารณะเพิ่มอีก ยกเว้นติดตั้งในพื้นที่ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. กำหนดในโครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม (USO) อาทิ โครงการตู้สาธารณะประจำอนามัย ซึ่งทีโอทีติดตั้งไปแล้วในปี 2553 จำนวน 5,404 เลขหมาย หรือโครงการตู้โทรศัพท์สาธารณะประจำหมู่บ้าน ห่างไกล จำนวน 4,327 แห่ง เป็นต้น

สำหรับตู้โทรศัพท์สาธารณะที่จะยังคงไว้ เพราะมีศักยภาพในการสร้าง รายได้ เช่น ที่ติดตั้งบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ โดยทีโอทีเพิ่งได้ข้อยุติเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องค่าเช่าพื้นที่กับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งทีโอทีจะสามารถติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นได้ทุกแห่งที่เป็นของซีพี ออลล์ ส่วนร้านของแฟรนไชส์ ต้องมีการเจรจาเป็นราย ๆ ไป ส่วนใหญ่ค่าเช่าพื้นที่บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อจะปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 1-2 เท่า แต่ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เนื่องจากเป็นจุดที่ทำรายได้ให้มากกว่าพื้นที่อื่น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเปลี่ยนตู้โทรศัพท์สาธารณะให้เป็นจุดติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ Wi-Fi รวมถึงปรับเปลี่ยนเป็นตู้เติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งขณะนี้ทีโอทีได้ทำสัญญาเช่าและแบ่งรายได้กับเอกชนไปแล้วหลายราย อาทิ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เจ้าของตู้เติมเงิน "บุญเติม" พร้อมทั้งพัฒนาตู้โทรศัพท์สาธารณะรูปแบบใหม่ที่สามารถให้บริการได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งโทรศัพท์, ใช้อินเทอร์เน็ต และเติมเงินบริการออนไลน์ของบริการต่าง ๆ ได้ คาดว่าภายในปีหน้าจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในเชิงรายได้และความหลากหลายของบริการ


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1318911817&grpid=&catid=06&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น