ชำนาญ จันทร์เรือง: สิ่งที่เป็นความผิดในตัวเองกับสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๔
สิ่งที่ถกเถียงกันจนเป็นชนวนของความแตกแยกในสังคมไทยในปัจจุบันนี้ก็คือประเด็นของการนิรโทษกรรมกับประเด็นการใช้มาตรการทางกฎหมายไปกลั่นแกล้งกันด้วยการแจ้งความดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ในข้อหาที่เรียกกันสั้นๆ ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ซึ่งไม่มีในศัพท์ทางกฎหมายอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด)
ตามทฤษฎีกฎหมายแล้ว ความผิดทางอาญามี ๒ ประเภทคือ
๑) สิ่งที่เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) คือความผิดที่คนทั่วไปเห็นชัดเจนว่าเป็นความผิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยปรากฏออกมาในรูปแบบของขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี ที่ประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลานาน และสิ่งที่ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอนั้นได้รับการยอมรับกันในสังคมว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (opunio juris) ถ้าไม่ปฏิบัติเช่นนั้นก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือนัยหนึ่งรู้สึกว่าจำเป็นต้องปฏิบัติเช่นนั้น (opinion necessitates) เช่น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การทำร้ายผู้อื่น การลักทรัพย์หรือฉ้อโกงผู้อื่น ฯลฯ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดใดจะถือว่าเป็นความผิดในตัวเองแทบทั้งสิ้น เว้นเสียว่าจะเอาเหตุผลความจำเป็นอื่นมาอ้างเพื่อเป็นข้อยกเว้น เช่น การป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ การสู้รบในสงครามซึ่งผมเห็นว่าน่าจะไม่ใช่เหตุผลที่สมควรแต่อย่างใดที่จะเอาชีวิตผู้อื่นโดยเหตุผลทางการเมืองหรือการแสวงหาอำนาจของผู้นำที่คลั่งอำนาจ รวมถึงการสู้รับเพื่อแย่งชิงเขตดินแดนที่สมมุติขึ้นในแผนที่
๒) สิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด (mala prohibita) คือความผิดที่เกิดจากการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด โดยอาจมิได้เกี่ยวกับศีลธรรมเลย เพราะเมื่อสังคมเจริญขึ้น การติดต่อระหว่างคนในสังคมมีมากขึ้นและใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซับซ้อนยิ่งขึ้น เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตก็มีมากขึ้น ทำให้มีข้อขัดแย้งในสังคมมากขึ้น กฎเกณฑ์ที่เป็นแต่ขนบธรรมเนียมประเพณีไม่เพียงพอ จึงจำต้องมีกฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นมาทันทีเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตัวอย่าง เช่น กฎจราจร หรือ ความผิดตาม พรบ.การพนันฯ ซึ่งการเล่นการพนันบางอย่างในบางแห่งอาจถือเป็นความผิดเพราะสังคมนั้นเชื่อว่าการพนันเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม แต่บางแห่งถือเป็นเรื่องธรรมดาเพราะถือว่าคนเราโตแล้วย่อมมีความรับผิดชอบในชีวิตตัวเอง และในทำนองเดียวกันก็คือ กฎหมายว่าด้วยการค้าประเวณี ซึ่งบางสังคมก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและบางแห่งถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ฯลฯ
กฎเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจง ไม่เกี่ยวกับศีลธรรมจรรยาหรือขนบธรรมเนียมประเพณี แต่เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาทันทีทันใดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบางอย่าง ไม่ใช่ว่าขับรถทางซ้ายเป็นคนดี ขับรถทางขวาเป็นคนไม่ดี ไม่ใช่เรื่องดีชั่วในตัวเอง แต่เป็นเรื่องผิดถูกเพราะกฎหมายกำหนดไว้ หากไม่ทำก็ถือว่าผิด
จากที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเราพิจารณาถึงประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงในสังคมไทยในปัจจุบัน คือ
๑) ประเด็นการนิรโทษกรรม สามารถแยกเป็นได้ ๒ กรณี คือ
๑.๑ กรณีคุณทักษิณ ในความเห็นของผมแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นความผิดเพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด (mala prohibita) เช่น คดีผิดตามกฎหมาย ปปช.ที่กำหนดขึ้นมาเป็นการเฉพาะและอยู่ในระหว่างการหลบหนีคดี รวมทั้งคดีอื่นๆอีกหลายคดี ซึ่งการนิรโทษกรรมย่อมขึ้นกับผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ในที่นี้ย่อมหมายถึงสภานิติบัญญัติหรือรัฐสภาที่อาศัยคะแนนเสียงส่วนใหญ่เป็นผู้พิจารณา ส่วนว่าใครจะชอบใจไม่ชอบใจและผลตามมาจะเลวร้ายเกินกว่าสังคมจะรับได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
๑.๒) กรณี ๙๑ ศพ ในความเห็นของผมแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นความผิดเพราะเป็นสิ่งที่เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) เพราะเป็นการฆ่าคนอย่างชัดเจน ส่วนจะอ้างว่าเป็นการกระทำสมควรแก่เหตุหรือไม่นั้นย่อมต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษา และถึงแม้ว่าจะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมออกมางดโทษก็ตามก็ไม่อาจล่วงพ้นความรับผิดไปได้หากศาลอาญาระหว่างประเทศ(International Criminal Court-ICJ)รับไว้พิจารณา ส่วนว่าศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับหรือไม่รับไว้พิจารณาเนื่องด้วยประเด็นปัญหาเขตอำนาจศาลนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
๒) ประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ในความเห็นของผมแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นความผิดเพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด (mala prohibita)อีกเช่นกัน เพราะบางประเทศก็มีสถาบันกษัตริย์และบางประเทศก็ไม่มีสถาบันกษัตริย์ ถึงแม้ว่าในแต่ละประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ก็มีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ซึ่งของไทยเรานั้นเปิดโอกาสให้ใครก็ได้สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ จึงเป็นเหตุให้มีการกลั่นแกล้งกัน ทำให้ผู้ที่แสดงความเห็นโดยสุจริตใจได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ซึ่งผมเห็นว่าสมควรแก้ไขกฎหมายให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองคล้ายกับคณะกรรมการคดีพิเศษ โดยประกอบไปด้วยผู้แทนจากหลายฝ่าย เช่น สำนักราชเลขาธิการ ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงานอัยการสูงสุด, นักวิชาการ ฯลฯ ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายนี้ ผมเห็นว่าผู้ที่เชื่อว่าตนถูกกลั่นแกล้ง ควรที่จะได้ดำเนินการแจ้งความกลับผู้กล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา ๑๑๒ นี้เช่นกัน เพราะได้ทำการให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ย่อมเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย
กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น ฉะนั้น มนุษย์ย่อมเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ สิ่งใดที่ล้าสมัย ใช้ไปแล้วถูกตำหนิติเตียนหรือผู้คนเดือดร้อนเกินกว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้มีการบัญญัติขึ้นมา ย่อมสมควรที่จะมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ความยุติธรรมและสันติสุขเกิดขึ้นในสังคม หากสังคมใดยังฝืนทวนกระแสโลกก็ย่อมหาความสันติสุขได้ยากและรังแต่จะเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ต่อเพื่อนร่วมสังคมโลกว่ายังใช้กฎของป่า (Rule of Jungles) อยู่ แทนที่จะใช้ หลักนิติธรรม (Rule of Laws) ดังเช่นนานาอารยประเทศทั้งหลาย