วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อดีตรมว.บัวแก้ว แนะคนไทยศึกษา-ถอดบทเรียนความขัดแย้งของชาติในอดีต

โดย เฉพาะพระราชวิเทโศบายด้านการต่างประเทศของ ร. 5 ควรนำมาประยุกต์ใช้ “สุรเกียรติ์” เปิดหน้าประวัติศาสตร์ชี้กรณีเขาพระวิหารที่หลายคนยังมีคำถาม  ถ้าศึกษาให้ดีจะเข้าใจสถานการณ์ตอนนั้น ประเทศไทยมีข้อจำกัดอย่างไร

 

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ และมูลนิธิพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า จัดสัมมนาเชิงวิชาการ “รำลึก 100 ปีปิยมหาราชานุสรณ์: บทเรียนความอยู่รอดของชาติท่ามกลางความขัดแย้ง” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานมูลนิธิสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ และเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า กล่าวเปิดงาน

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า พระราชวิเทโศบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการปฏิรูปแผ่น ดินสยามครั้งใหญ่ที่ผ่านมานั้น ควรถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการวางรากฐานและดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม เกษตรกรรม การปกครอง การคลัง ความมั่นคงของชาติ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ ด้วย

“ โดยเฉพาะพระราชวิเทโศบายด้านการต่างประเทศของรัชกาลที่ 5 ก็ควรนำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งพระองค์ทรงใช้นโยบายทางต่างประเทศที่ทำให้เกิดผล 3 เรื่องใหญ่ คือ เกิดการผสนผสานทางศิลปวัฒนธรรม ของตะวันตกอย่างกลมกลืน, นโยบายที่ต้องนำพาการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยขึ้นในทุกๆ ด้าน และทำให้เรารักษาดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศและเอกราชไว้ได้”

อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า อยากให้ประเทศไทยศึกษาพระราชวิเทโศบายที่ทรงให้ความสำคัญเรื่องการสร้าง สมดุลของชาติมหาอำนาจต่างๆ (Balancing of Power/ Balancing of Foreign) ท่ามกลางกระแสล่าอาณานิคมขณะนั้น ได้สร้างมิตรทั้งใกล้และไกลเพื่อหาเพื่อนร่วมสนับสนุนในความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศแก่ไทย พร้อมการประสานประโยชน์แก่มหาอำนาจ ขณะนี้ไทยก็ควรตระหนักเรื่องนี้เช่นกัน

สำหรับการสร้างสมดุลกับประเทศมหาอำนาจ  อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายทางต่างประเทศที่เน้นความร่วมมือต่างๆ ที่ทำให้มหาอำนาจสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งทำให้มหาอำนาจต่างๆ มีบทบาทที่สมดุลในภูมิภาคและประเทศไทย มีประเทศใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยไทยได้ใช้ทั้งกรอบทวิภาคีและพหุภาคีในการสร้างความร่วมมือ เช่น ทวิภาคีที่ชัดเจนกับจีน อินเดีย รัสเซีย ฯลฯ และไม่ทิ้งความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา  ส่วนพหุภาคี เช่น กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มประเทศแม่น้ำอิระวดี-แม่โขง ประชาคมอาเซียน อีสเอเชียซัมมิท (EAS) ฯลฯ

“การสร้างสมดุลกับมหาอำนาจในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ  ทำให้ประเทศไทยรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ เพราะเรามีจุดยืนต่างประเทศที่สามารถยืนอยู่กับสหรัฐ อังกฤษ รัสเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศมุสลิมได้ด้วย ดังนั้นเราควรใช้พระราชวิเทโศบายการสร้างสมดุลมหาอำนาจมาใช้  โดยเฉพาะกับมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้”

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า การศึกษาและความเข้าใจประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญในทางนิติศาสตร์ระหว่าง ประเทศ คือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กฎหมายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ในห้วงเวลานั้นๆ ด้วย ว่า ช่วงที่กฎหมายฉบับนั้นๆ เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในขณะนั้นอย่างไรบ้าง จำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะอะไร และมีแนวทางการบังคับใช้อย่างไร

“ผมเห็นว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ในการพิจารณาผลของกฎต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั้น ที่เราจะพอใจหรือไม่พอใจ โดยใช้เหตุการณ์ในปัจจุบันไปตัดสินเหตุการณ์ในอดีตนั้นคงไม่ได้”

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงกรณีปราสาทเขาพระวิหารหลายคนตั้งคำถามว่า เราไม่ควรแพ้คดีในศาลโลกเพราะหลักกฎหมายปิดปาก ไทยไม่คัดค้านแผนที่ที่ฝรั่งเศสร้างขึ้น เรามีพฤติกรรมที่ยอมรับโดยปริยายตั้งแต่ปีค.ศ.1904 ที่มีอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส จนปีค.ศ.1907 ที่มีสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ซึ่งผู้ใหญ่ของไทยในเวลานั้นก็ไปเยี่ยมเยียนพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่ได้ปฏิเสธการเป็นเจ้าของของฝรั่งเศส ทั้งที่เราเชื่อว่าเส้นของแผนที่ที่ร่างขึ้นบริเวณเขาพระวิหารนั้นไม่ถูก ต้อง เพราะฉะนั้นศาลจึงถือว่า กฎหมายปิดปากเรา ถือว่า เรายอมรับ เราไม่ได้ค้าน ซึ่งเรื่องนี้นั้นผู้รู้หลายท่านก็อธิบายให้เราเข้าใจได้ว่า ปีค.ศ.1907 นั้นเป็นปีที่เราเสียเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ เป็นปีที่เราเสียนครวัดนครธม แต่เราก็ได้จันทบุรีและตราดคืนมา

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวอีกว่า ถือว่าเป็นพระปรีชาสามารถอย่างมากด้านต่างประเทศ เพราะฝรั่งเศสสมัยนั้นเป็นมหาอำนาจผู้ล่าอาณานิคม คือเวลานั้นเราเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสไม่ใช่เสียให้กัมพูชา เพราะฉะนั้นในปีค.ศ.1907 ที่เราเสีย2-3 จังหวัดไป แต่ได้จันทบุรีและตราดกลับมา

“เราไม่ควรจะไปทักท้วงปราสาทเขาพระวิหาร โดยบอกว่าการลากเส้นปราสาทเขาพระวิหารของฝรั่งเศสนั้นผิดพลาด ทำให้ล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย ถ้าหยิบยกขึ้นฝรั่งเศสคงจะไม่ยอมฟัง แต่ฟังก็คงไม่ให้มาเปล่าๆ คงจะบีบบังคับเอาจังหวัดอะไรของเราไปอีกหลายจังหวัด ซึ่งก็คงไม่คุ้มกับปราสาทหนึ่งแห่งเป็นแน่ ถ้าเราศึกษาในมุมนี้ก็จะเข้าใจได้ว่า สถานการณ์ในตอนนั้น ประเทศไทยมีข้อจำกัดอย่างไร”

อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า บรรพบุรุษของเรามีความฉลาดหลักแหลม ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียอย่างรอบคอบ และมียุทธศาสตร์สมบูรณ์แล้วอย่างไรบ้าง ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์การฑูตของรัชกาลที่ 5 จะทำให้เราเข้าใจผลต่างๆ ทั้งที่เราพอใจและอาจจะไม่พอใจบ้างก็ตาม แต่เราจะรู้ว่า เรื่องนั้นๆ มีที่มาอย่างไร มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเจรจาอย่างไรบ้าง

“บางครั้งผมเป็นห่วงการหยิบยกเรื่องของประเด็นเส้นเขตแดนมาเป็นประเด็น การเมืองภายในประเทศ เราโยงความรักชาติเข้าไปในอดีต ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ อารมณ์ต่างๆ จะทำให้เราเข้าใจผู้นำประเทศในยุคก่อนๆ คลาดเคลื่อนผิดไป ซึ่งจะทำให้เราสับสน จุดยืนในอดีต และจุดยืนที่เราควรกำหนดในปัจจุบัน”

อดีตรมว.ต่างประเทศ ยังกล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนศึกษาพระราชวิเทโศบายของรัชกาลที่ 5 น้อมมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทย ศึกษาถอดบทเรียนทางประวัติศาสตร์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและเพื่อ ประกอบจุดยืนของสังคมไทยเพื่อความอยู่รอดของชาติในเวทีระหว่างประเทศที่มี สมดุลทั้งกับประเทศมหาอำนาจ และสร้างมิตรกับประเทศไม่ใกล้ไม่ไกล เพื่อประโยชน์ทุกด้านของประเทศและคนไทยโดยส่วนรวมต่อไปด้วย

http://www.thaireform.in.th/news-education/1845-2010-09-01-09-06-33.html


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น