วางเป้าเป็นปากเสียงแทนผู้บริโภค “ตรวจสอบ-เฝ้าระวัง-รู้เท่าทันสื่อ” ด้าน 2 นักวิชาการนิเทศฯ แนะเปิดพท.ปชช.ร่วม หนุนสร้างวัฒนธรรมคนไทยบริโภคสื่อเชิงรุก รู้จักคิดวิพากษ์สื่อเป็น ขณะที่ “วสันต์” รับสื่อมีส่วนมอมเมาคนในสังคม ทำให้รู้สึกเหมือน “วนิดา” หวังสักวันชีวิตจะดีขึ้น
วันนี้ (6 ต.ค.) คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน (คพส.) ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคพลเมือง จัดสัมมนาสาธารณะ “กลไกปฏิรูปสื่อภาคพลเมือง" ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ หลักสี่ เพื่อระดมความเห็นจัดทำข้อเสนอในประเด็นต่างๆ ดังนี้ การสร้างองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคสื่อ,การพัฒนากฎหมายและจรรยาวิชาชีพสื่อ, การคุ้มครองผู้บริโภคและตรวจสอบสื่อ, การรู้เท่าทันสื่อ และกลไกการเฝ้าระวังสื่อ
นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคพส.และประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าวถึงวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางความคิดและการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า ได้นำสังคมไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน รวมถึงประเด็นการปฏิรูปสื่อ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายพยายาม ผลักดันให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะมีความพยายามปรับปรุงและพัฒนากฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสื่อมวลชน ที่ขณะนี้ยังไม่สำเร็จเพราะการปฏิรูปสื่อจำเป็นจะต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ขณะนี้กำลังจะเสนอปรับปรุงหลักสูตรด้านสื่อมวลชน และเสนอปรับปรุงพัฒนาการทำงานขององค์กรเฝ้าระวังการทำงานของสื่อมวลชนด้วย ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชนทั้ง 5 ชุดย่อย ได้แก่ คณะทำงานพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ คณะทำงานพัฒนาบุคคลากรในวิชาชีพ คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และคณะทำงานพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ก็กำลังประชุมขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง”
จากนั้นมีการอภิปราย เรื่อง "กลไกภาคประชาสังคมในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสื่อ" โดยรศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.และรองประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป คสป. กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า ต้องเน้นการปฏิรูปโครงสร้างกฎหมายสื่อ-ความเป็นเจ้าของสื่อ และการสร้างกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ต้องปฏิรูปคู่ขนานกัน ทั้งด้านสิทธิ คุณภาพของฝ่ายผู้ผลิตสื่อ และความเข้มแข็งของฝ่ายผู้รับสื่อผู้บริโภคสื่อด้วย
"ที่ผ่านมาการปฏิรูปสื่อให้ด้านผู้ผลิตพูดเท่านั้น จากนี้ควรให้ภาคประชาชนได้พูดเรื่องปฏิรูปสื่อด้วย โจทย์สำคัญปฏิรูปอีกโจทย์คือสร้างความเข้มแข็งประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล รับรู้ข้อมูลข่าวสาร เพื่อการเฝ้าระวังและรู้เท่าทันสื่อ"
ส่วนประเด็นการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภคสื่อนั้น รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า ต้องยกระดับให้เกิดองค์กรเฝ้าระวังสื่อที่มีความเป็นอิสระได้รับการยอมรับจากองค์กรวิชาชีพ วิชาการ และภาคนโยบาย โดยให้มีงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจนเพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนได้ โดยมีช่องทางเชื่อมต่อกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดผลสะท้อนกลับและเกิดการแก้ไขได้จริง ซึ่งอาจต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อให้องค์กรนี้มีสถานะและบทบาทที่ชัดเจน
“หากรอให้ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมมีผลบังคับใช้เพื่อจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลคุ้มครองผู้บริโภค อาจต้องใช้เวลานาน1-2 ปี ดังนั้นการรวมตัวของภาคประชาชนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระ เป็นกลไกคุ้มครองและเฝ้าระวังสื่อ น่าจะเป็นแนวทางที่เกิดได้เร็วกว่า เบื้องต้นอาจจัดตั้งเป็นสถาบันวิชาการอยู่ในสถานศึกษาก่อนเพื่อสร้างให้ภาคประชาชนเกิดองค์ความรู้และเห็นความสำคัญ”
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้นต่อไปของการปฏิรูปสื่อ คือ ควรจะต้องทำให้เกิดสถาบันทางวิชาการกับสังคมในเรื่องสื่อ, ทำให้เกิดระบบบริหารจัดการสื่อแบบมืออาชีพ, เกิดวัฒนธรรมการบริโภคสื่อเชิงรุกของคนไทย และต้องมีระบบงบประมาณสนับสนุนเรื่องสื่อที่แน่นอน
ด้านดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชนและในฐานะนักวิชาการนิเทศศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ให้ภาคประชาชนมีสิทธิในคลื่นและดำเนินกิจการวิทยุกระจายเสียงและ วิทยุโทรทัศน์ แต่การปฏิรูปสื่อเพื่อไปสู่แนวทางดังกล่าวก็ยังไม่บรรลุผล แม้มีหัวขบวนระดับประเทศและผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกจังหวัด แต่ยังขาดพลัง ขาดเอกภาพ และการมีเจ้าภาพที่ทำหน้าที่อย่างจริงจัง
ประธานสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อต้องปฏิรูปที่โครงสร้างอย่างแท้จริง โดยโครงสร้างสื่อต้องเป็นอิสระเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ ให้ประชาชนเข้ามีบทบาทในเชิงโครงสร้างนั้นด้วย เนื่องจากการปฏิรูปสื่อที่ผ่านมาไม่ใช่การปฏิรูปที่แท้จริง ซึ่งก็เห็นด้วยหากจะมีการตั้งสถาบันอบรมเรื่องสื่อมวลชนแก่ทั้งประชาชน ตัวสื่อมวลชนในวิชาชีพ ภาควิชาการ แต่โจทย์สำคัญการอบรมนั้นต้องเน้นสาระว่า ทำไมต้องทำ ไม่ควรเน้นที่รูปแบบว่าจะต้องอบรมอย่างไร
“ปฏิรูปสื่อต้องไปให้ไกลกว่าประเด็นตัวเนื้อหาของสื่อ ทั้งในส่วนสื่อหลักและสื่อประชาชน ต้องทำให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้มากว่าแค่ชอบหรือไม่ชอบ ต้องทำให้ประชาชนรู้จักคิดวิพากษ์สื่อเป็นมากขึ้น (Critical Thinking) สิ่งนี้สำคัญมากต่อการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน อย่างไรก็ตาม การสร้างสื่อภาคประชาชนขึ้นนั้นไม่ใช่การลดคุณค่าสื่อกระแสหลัก แต่เป็นการช่วยกันสร้างสรรค์วัฒนธรรมสื่อสารในสังคม ต้องช่วยกันสร้างสังคมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสื่อหลักกับสื่อประชาชน”
ส่วนกลไกเฝ้าระวังสื่อ ดร.เอื้อจิต กล่าวว่า ภาคประชาชนไม่ควรไปทำตัวปฏิปักษ์กับสื่อ แต่ควรช่วยกันหนุนเสริมการทำงานแก่กัน ประชาชนบ่นแล้วก็ต้องทำด้วย ไม่ใช่เพียงว่าสื่อทำงานไม่ดี แต่เราทุกคนควรตั้งคำถามสะท้อนกลับไปด้วยว่าสื่อทำหน้าที่อะไรแก่พวกเราบ้าง และมีอะไรที่สื่อไม่ได้ทำบ้างต่างหาก
ส่วนนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ทีวีไทย) กล่าวว่า การปฏิรูปสื่อนั้นต้องเคลื่อนด้วยวิชาชีพและประชาชนเป็นหลัก รัฐไม่ควรเข้ามา และผู้ประกอบวิชาชีพควรจะเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพราะจะทำให้การถือครองสื่อกระจายตัวมากขึ้น ควรมีการจัดสรรสื่อโดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดสื่อสาธารณะมากขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ควรมีกฎหมายรับรองการทำงานของสื่อมวลชนให้มากกว่าที่มี และควรต้องปรับปรุงทำให้กลไกการควบคุมกำกับกันเองให้แข็งแรงขึ้น ไม่ใช่เพียงเสือกระดาษ และควรมีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ จากภาคประชาชนคอยกำกับการนำเสนอเนื้อหาของสื่อให้อยู่ในแนวทางที่เหมาะสมและให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ
“ยอมรับว่าช่วงหลังมานี้มีการติดตาม จับจ้องเฝ้ามองการทำงานของสื่อมวลชนมากขึ้น ยอมรับ สื่อมีส่วนมอมเมาสังคม หลายครั้งที่สื่อก็มอมเมาคนในสังคมทำให้รู้สึกเหมือน วนิดา ว่า สักวันหนึ่ง ชีวิตจะดีขึ้น ดังนั้นก็ควรมีองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคสื่อขึ้นด้วย”ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น