“เฉาก๊วย” ขนมหวานสีดำ ที่มีลักษณะหยุ่น ๆ เหมือนวุ้น ต้องรับประทานพร้อมกับน้ำเชื่อมและน้ำแข็ง ใครรู้บ้างว่า จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่วุ้น แต่มันทำมาจากพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งพืชชนิดนั้นก็คือ “ต้นเฉาก๊วย” นั่นเอง
“ต้นเฉาก๊วย” เป็นพืชล้มลุก ประเภทคลุมดิน ลักษณะเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก ลำต้นกลม เปราะและหักง่าย พืชชนิดนี้เป็นพืชในตระกูลเดียวกับพวกใบสะระแหน่ หรือ มิ้นต์ แต่ใบจะใหญ่และเรียวแหลมกว่า ใบเป็นรูปรีแกมรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ มีสีเขียวสด ดอกสีขาว ลักษณะคล้ายดอกกะเพรา ออกได้เรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี คนไทยเรียกว่า “หญ้าเฉาก๊วย” แปลว่า ขนมที่ทำจากหญ้า (“เฉา” แปลว่า “หญ้า”, “ก๊วย” แปลว่า “ขนม”)
พืชชนิดนี้ขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำกิ่ง แต่ก็สามารถขึ้นได้ในดินทั่วไป เป็นไม้ที่ชอบทั้งแดดและความชุ่มชื้น ปลูกได้ทั้งในดินกลางแจ้งและลงกระถาง ใบเมื่อนำไปตากแห้งแล้วเอาไปต้มจนเดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำก็จะได้น้ำเฉาก๊วย หรือนำยางไปผสมแป้งให้มันอยู่ตัว ก็จะได้เฉาก๊วยที่เรารับประทานกัน สรรพคุณนอกจากจะช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำแล้ว ยังสามารถควบคุมโรคความดันสูงได้อีกด้วย.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น